ความเชื่อในเวียดนาม
ในบทนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านความเชื่อของชาวเวียดนาม ซึ่งประกอบไปด้วยความเชื่อเรื่องศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่นๆที่ปรากฏอยู่ในเวียดนาม ชาวเวียดนาม เองก็มีรูปแบบความเชื่อเหมือนกับที่อื่นๆ บนโลก ในสมัยก่อนชาวเวียดนามโบราณ มีการไหว้บูชา เทพเจ้าต่างๆ มากมาย พวกเขาไหว้และบูชาทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีตัวตน โดยเฉพาะความเชื่อความศรัทธาเกี่ยวกับธรรมชาติ ที่ผู้คนในสังคมไม่สามารถหาคำอธิบายได้ในสมัยนั้น ปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ของชาวเวียดนามโบราณ ด้านวัตถุโบราณ บันทึก และอื่นๆอีกมายมาย ทำให้เรารับรู้ในองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวเวียดนามโบราณ โดยทั่วไปที่จะศึกษาในส่วนนี้คือ เรื่องของความเชื่อ และศาสนา
ในสมัยก่อน เขาเชื่อกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่มี วิญญาณ (Linh Hon) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้คนมีการไหว้บูชา ในเทพเจ้าต่างๆมากมายแตกต่างกัน อาทิ การบูชาเทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์ เทพเจ้าแห่งสายน้ำ เทพเจ้าแห่ง ทะเล เทพเจ้าแห่งฝน ในรูปแบบวัฒนธรรมการเกษตร เขาบูชาเทพเจ้าแห่งการเกษตร เพราะเชื่อว่า ท่านจะช่วยปกปักรักษาเกี่ยวกับพืชสวนไร่นา บูชาเทพเจ้าแห่งข้าว และเทพเจ้าแห่งข้าวโพด ด้วยความหวังที่ว่า เพื่อที่จะช่วยในเรื่องผลผลิตในยามเก็บเกี่ยว ในระดับหมู่บ้านก็มีการบูชา เทวดาอารักที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้าน นอกจากนั้นยังมีการบูชาบุคคลที่อยู่ในตำนาน และนิยาย หรือไม่ก็เป็นบุคคลที่มีคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ เช่น ในตำนาน นิยายคือ แถ้ง ซ้อง (Thanh Giong) วีรบุรุษที่ช่วยปกป้องชาติจากกองทัพจีนในประวัติศาสตร์เวียดนาม คือ ขุนพล หลี เถื่อง เกียด (Ly Thuong Kiet) และ ขุนพล เจิ่น ฮึง ด่าว (Tran Hung Dao) เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อเรื่อง การบูชาบรรพบุรุษและการไหว้ในวันครบรอบวันตาย ซึ่งเป็นจารีตที่ชาวเวียดนามยึดถือมาแต่โบราณ เพราะเขาเชื่อว่าวิญญาณของญาติจะยังคงอยู่เคียงข้างและช่วยปกป้องและสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมีความเชื่อนี้ทำให้ บ้านต่างๆของชาวเวียดนามมีการจัดตั้ง แท่นบูชาไว้สำหรับบูชาบรรพบุรุษของตน ซึ่งแท่นบูชานั้นจะถูกจัดวางไหว้ในที่ที่สำคัญที่สุดของบ้าน สำหรับการไหว้ นอกจากจะไหว้ในวันสำคัญแล้ว ข้างขึ้นข้างแรม นับแต่วันที่ 1 ถึงขึ้น 15 ค่ำแล้วยังมีการไหว้ จุดธูปบูชาในโอกาสพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ วันที่มีการแต่งงาน งานศพ งานรื่นเริง เทศกาลวันตรุษ เป็นต้น
วันที่สำคัญที่สุดในการไหว้บรรพบุรุษก็คือ วันครอบรอบวันตาย ซึ่งการไหว้บรรพบุรุษในวันนี้จะเป็นการรวมตัวของลูกหลานที่อยู่ในวงศ์ตระกูล และเพื่อนสนิทมิตรสหาย ซึ่งก็แล้วแต่ละครอบครัวเป็นคนกำหนด แต่มีบางครั้งในการไหว้บรรพบุรุษในวันนี้ไม่ได้มีพิธีอะไรใหญ่โตมาก สิ่งของที่ใช้ไหว้นั้น บางครั้งก็ไม่ได้จัดให้ครบองค์ประกอบ เพียงแค่มี การจุดธูปบูชา หรือมีแก้วน้ำ ผลไม้ สิ่งที่สำคัญคือจิตใจของลูกหลานที่ยังคงระลึกถึงคุณความดีและสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษเท่นั้นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ แล้วต้องนึกถึงการบูชาบรรพบุรุษที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติของชาวเวียดนาม นั้นก็คือ วันบูชาพระเจ้า หุ่ง เวือง ซึ่งจะมีการจัดเทศกาลในการไหว้ในวันที่ 10 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี
ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางด้านประวัติศาสตร์ของชาติ ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษภายใต้การปกครองของชนจีน หรือในยุคที่เวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิตและทัศนคติความเชื่อของชาวเวียดนามได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น โดยเฉพาะระบบแนวคิดทางความเชื่อ 3 แนวคิดหลัก หรือที่เวียดนามเรียกว่า ตาม สาว (Tam giao) ที่แผ่ขยายเข้าสู่วิถีชีวิตของชาวเวียดนาม ซึ่งแนวความคิดดังกล่าว ประกอบด้วย แนวคิดตามศาสนาพุทธ เต๋า และขงจื้อ ลัทธิเต๋าและขงจื้อมีต้นกำเนิดมาจากจีน และแผ่ขยายเข้าสู่เวียดนามประมาณต้นคริสตกาล ผ่านชนชั้นผู้ปกครองชาวจีน พุทธศาสนานั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและมี 2 นิกายที่แผ่เข้าสู่เวียดนาม คือ มหายานและหินยาน นิกายมหายาน (Phai Dai Thua) นั้นแผ่เข้าสู่เวียดนามผ่านจีน พร้อมกับ ลัทธิเต๋าและขงจื้อ ส่วนนิกาย หินยานแผ่เข้าสู่เวียดนามทางไทย พม่า กัมพูชา ลาวและแผ่เข้าสู่เวียดนาม กล่าวโดยทั่วไปแล้วความเชื่อใน 3 แนวคิดทางศาสนาหลักๆ พุทธศาสนา เต๋า และขงจื้อ ก็มีช่วงเวลาที่มีความรุ่งแรงและเสื่อมถอยอยู่เวียดนาม แต่ก็เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวเวียดนามทุกๆชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะพุทธศาสนา และชาวเวียดนามได้รับเอาแนวคิดและหลักคำสอนทางศาสนาใหม่ที่เผยแพร่เข้ามาและปรับใช้กับความเชื่อเดิมได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี ของประชาชนชาวเวียดนาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น