วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กัปปะ (Kappa)


กัปปะ
 (Kappa)

                สำหรับสัตว์เร้นลับตอนนี้ก็คือกัปปะครับ หลายคนอาจได้ยินเรื่องราวของมันมาบ้าง ในฐานะตัวละครตัวหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่น หรือไม่ก็ในนิทานตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นก็กล่าวถึงเจ้าตัวนี้เหมือนกัน
กัปปะ (แปลว่า"เด็กของแม่น้ำ") นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกของกัปปะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นอีกเช่น คาวัปปะ คาวะวัปปะ การัปปะ นอกจากนี้ยังมีเกทาโร่หรือกาทาโร่ซึ่งแผลงมาจากคาวะทาโร่ และในอีกทฤษฎีหนึ่ง ชิบะเท็น (ชิบะเท็นงุ) ของโคจิก็ถูกนับเป็นอีกสายหนึ่งของกัปปะเช่นกัน
นอกจากนี้กัปปะได้ชื่อว่าเป็น UMA ของญี่ปุ่นอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก(แฮรี่ พอตเตอร์ยังกล่าวถึงเลยคิดดู) และได้รับความนิยมจากชาวญี่ปุ่นเองต่อเนื่องมาเป็นเวลานานที่สุดด้วย เช่นเดียวกับ สึจิโนะโกะ และจนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้อ้างว่าเห็นกัปปะตามที่ต่างๆในญี่ปุ่นเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว แต่รายงานอย่างเป็นทางการไม่ค่อยแพร่หลายนัก เพราะหลายคนไม่ยอมเชื่อเพราะมันเกินจริงไปหน่อย อีกทั้งเดี๋ยวนี้ประเทศญี่ปุ่นเองก็ล้ำโลกไปแล้วทำให้ตำนานพื้นบ้าน หลักฐานเก่าๆ นาๆ ได้ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย
               
ในตำนาน กัปปะ เป็นผีญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง เป็นผีจำพวกพรายน้ำ ประวัติการกำเนิดไม่เด่นชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่ามีช่างไม้ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ชื่อ ฮิดาริจินโกโร่ อ้างว่าตุ๊กตาไม้ที่เขาทำโยนลงน้ำ กลายเป็นกัปปะไป หรืออีกตำนานก็เล่าว่า เดิมกัปปะเป็นเทพที่ดูแลแม่น้ำลำคลอง แต่เมื่อมนุษย์เลิกนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กัปปะเลยตกชั้นเป็นเพียงภูตผีธรรมดา หรือทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นจะเชื่อว่ากัปปะข้ามมาจากแผ่นดินใหญ่ (ประเทศจีน) หรือฝั่งตะวันออกจะเชื่อว่าเป็นภูติรับใช้ของอาเบะโนะเซย์เมย์ หรือภูติอารักขาของเอ็นโนะโอซึโนะที่แปลงกายมา ในบางที่ มีการมองว่ากัปปะเป็นเทพของแม่น้ำ ซึ่งเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง (บางเขตก็จะบอกว่าเป็นฤดูหนาว) ก็จะขึ้นเขากลายเป็นเทพของภูเขา บ้างก็ว่าเป็นเทพประเภทเดียวกับซาชิกิวาราชิ ซึ่งจะมีแต่เด็กเท่านั้นที่มองเห็น(จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือ "เหตุการณ์ในอดีต" กล่าวว่ามีคนเคยพบสิ่งมีชีวิตครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลักษณะคล้ายคนเมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อน จึงอาจคิดว่าเจ้าตัวนี้ก็คือกัปปะรุ่นบุกเบิกที่ได้มีการค้นพบและบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของญี่ปุ่นก็ว่าได้)
กัปปะเป็นภูติผีที่ชอบอาศัยอยู่ตามหนองน้ำหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกบ ตัวสีเขียว แต่มีกระดองเต่าอยู่ข้างหลัง เท้ามีพังผืดทั้งเท้าหน้าและเท้าหลัง จมูกแหลม ปากแหลมเหมือนนก ผิวเป็นเมือกลื่น อาจมีสีเขียว น้ำเงิน หรือแดง มือก็เป็นผังผืด ที่หลังจะมีกระดองเต่า มีขนดกทั่วตัว แขนขาของกัปปะยาวยืดหยุ่น และได้มีลักษณะศีรษะที่แบนและกลางกระหม่อมไม่มีผม  
นิสัยของกัปปะที่เรารู้กันดี คือ ชอบกินแตงกวา ในฤดูเก็บเกี่ยวแตงกวาของเกษตรกร ที่ญี่ปุ่นจึงมีธรรมเนียมการลอยแตงกวาลงแม่น้ำ เพื่อเซ่นวารีเทพ และทำทานให้ผีอดโซ เป็นที่มาของเรื่องเล่าที่ว่า หากชายใดแก้ผ้าลงเล่นน้ำในแม่น้ำ อาจถูกกัปปะดึงของลับ เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแตงกวาที่เอามาเซ่น กัปปะมีนิสัยที่ขี้เล่นและอยากรู้อยากเห็น ซึ่งบางครั้งก็เป็นอันตรายกับมนุษย์ ซึ่งมีวิธีแก้ก็คือ ให้เขียนชื่อตัวเอง ลงไปในแตงกวา แล้วขว้างลงไปในแม่น้ำ เมื่อ กัปปะ มาเจอแตงกวานี้เข้าก็จะกินอย่างเอร็ดอร่อย และ ก็จดจำชื่อ ที่อยู่บนแตงกวาด้วย คราวหน้าบังเอิญต้องเจอะเจอเจ้าของชื่อ กัปปะ ก็จะไม่ทำอันตรายอะไร (จากการที่กัปปะชอบแตงกว่านี่เอง ชาวญี่ปุ่นจึงเรียกมากิซูชิ (ซูชิแบบม้วน) ที่ห่อไส้แตงกวาว่า"กัปปะมากิ"
นิสัยของกัปปะอีกอย่างคือมันชอบเล่นซูโม่  ถึงแม้ว่ากัปปะจะมีรูปร่างพอๆกับเด็ก แต่ก็เป็นผีที่เอาชนะได้ยาก แต่จุดอ่อนคือถ้าขึ้นบนบกจะหมดฤทธิ์ จึงใส่น้ำไว้บนศีรษะที่แบนราบของตัวเอง ดังนั้นเมื่อพบเจอกับกัปปะให้ก้มคาราวะ เมื่อกัปปะคาราวะตอบ น้ำบนศีรษะจะหก ทำให้หมดฤทธิ์ และ กัปปะจะก้มตาม ทำให้น้ำกระฉอกออกจากจาน กัปปะจะอ่อนแรงลง และพ่ายแพ้ในที่สุด ซึ่งจะทำให้กัปปะเสียใจอย่างมาก
 
กัปปะมีความอันตรายเช่นเดียวกับผีร้ายอื่นๆ แต่โดยรวมๆแล้วตำนานไม่ได้มองว่ากัปปะเป็นสิ่งชั่วร้ายโดยตรงนัก มีเรื่องเล่าอยู่เสมอๆ ว่ากัปปะเคยหลอกล่อให้คนลงไปในน้ำ มักจะลากม้า หรือเด็กๆลงแม่น้ำจนจมน้ำตาย หากถูกชาวประมงจับได้ มันจะปล่อยตดออกมาป้องกันตัว ซึ่งเหม็นบรรลัย ทั้งยังมีเรื่องเล่าที่ว่า กัปปะจะคอยแอบอยู่แถวๆ ส้วม เมื่อคนเผลอมันจะแกล้งโดยใช้นิ้วสวนทวาร.....
แต่ว่าก็มีกัปปะบางตัวเหมือนกันที่นิสัยดีมีความสุภาพอ่อนน้อมและมีสัมมาคาราวะมาก กัปปะเป็นพรายที่มีความคิด ถ้ารู้สึกผิด มันจะขอโทษโดยการจับปลามาให้ที่หน้าประตูบ้านทุกวัน หรือไม่ก็มอบยาสมุนไพรชั้นเลิศที่มันปรุงขึ้นมาให้ ซึ่งกัปปะมีความเชี่ยวชาญด้านการปรุงยาลี้ลับอย่างมาก
                จับแล้วครับเรื่องตำนาน คราวนี้มาถึงเรื่องตามรอยสัตว์เร้นลับของเราบ้าง
กัปปะที่พูดถึงในฐานะ UMA ก็ถูกแบ่งเป็นสองชนิดตามลักษณการปรากฏตัวในตำนานคือ

-          ประเภทที่เหมือนเต่า
 
กัปปะชนิดนี้จะมีเกล็ดปกคลุมทั่วตัวและมีจงอยปาก บนศีรษะมีจานอยู่ หากจานนี้แตกไป กัปปะก็จะถึงตายได้ บนหลังมีกระดองเหมือนกระดองเต่า มือและเท้ามีพังผืด ชอบกินแตงกวา

-          
ประเภทที่เหมือนลิง
 
มีขนปกคลุมทั่วตัวมีเขี้ยว จมูกมีรูปร่างไม่ชัดเจน บนศีรษะมีรอยบุ๋มอยู่และกัปปะจะหล่อน้ำไว้ในรอยบุ๋มนี้ หากน้ำแห้งไป กัปปะก็จะตาย (บ้างก็ว่า กัปปะเอาจานวางบนหัวเพื่อกันน้ำไม่ให้ระเหยแห้งไป) มือมีนิ้วหัวแม่โป้งและเท้าก็มีส้น ชอบเล่นซูโม่และมักจะมาท้าแข่งกับเด็กๆ จากรูปที่พบจะเห็นว่ามีทั้งกัปปะที่มีกระดองและไม่มีกระดอง จึงสันนิษฐานได้ว่ากระดองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นเครื่องมือที่ชวยในการลอยตัวในน้ำ เนื่องจากกัปปะเด็กจะมีกระดอง แต่กัปปะที่โตแล้วจะไม่มี (บางครั้งจะพบเป็นรูปกัปปะที่ใส่เสื้อฟางแทนกระดอง)
 
ส่วนรายงานการพบเห็น มีการอ้างว่าพบเห็นกัปปะเป็นจำนวนมากจนถึงสมัยเอโดะซึ่งหลังจากนั้นก็น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสันนิษฐานว่ากัปปะอาจจะกำลังจะสูญพันธุ์เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็เป็นได้
ส่วนรายงานล่าสุดเท่าที่มีการบันทึกไว้คือ ที่ เกาะทสึชิมะในจังหวัดนางาซากิ กลางดึกคืนหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1984 ขณะที่ ชิโรซากิ ริวซากุ อายุ 71 ปี กำลังเดินกลับบ้านของตน เขาก็ได้สังเกตุเห็นสิ่งมีชิวิตประเภทหนึ่งซึ่งมีความสูงประมาณ เมตร แขนขายาวเดินสวนทางมา
สิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีศีรษะค่อนข้างโต และทุกย่างก้าวที่เจ้าตัวประหลาดเดินเข้ามาก็จะมีฝีเท้ากร็อบแกร็บๆ น่าขนลุก
ในตอนแรกชิโรซากิเองก็ไม่ได้นึกว่าสิ่งที่ตนเห็นเป็นกัปปะหรือสัตว์ประหลาด เมื่อทั้งคู่เดินมาจนถึงระยะที่ต่างคนต่างเห็นตัวกันจนถึงระยะที่ต่างคนต่างเห็นตัวกันอย่างชัดเจน ปรากฏว่าเจ้าสัตว์ประหลาดดังกล่าวเกิดตกใจรีบตาลีตาเหลือกวิ่งหนีลงแม่น้ำไปทันควัน
รุ่งขึ้น นายชิโรซากิได้กลับไปที่เกิดเหตุพร้อมกับตำรวจอีกครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้เมาหรือตาฝาดไป ตำรวจก็ได้ตรวจพบรอยเท้าพร้อมเมือกใสๆ ติดอยู่และได้ทำการเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ เพียงข้ามคืนเดียว ข่าวการพบกัปปะก็ถูกแพร่สะพัดและถูกกล่าวขวัญไปทั่วเกาะญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีใครกล้ายืนยันเพราะขาดหลักฐานเพียงพอ
เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอนี้แหละครับ ทำให้รายการการพบเห็นกัปปะเลยน้อยเหลือเกิน

แล้วมันคือตัวอะไรกันแน่?

               จริงอยู่ว่า หลายคนได้ยินข่าวว่ามีการพบมัมมี่ของกัปปะอยู่ตามที่ต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่มีการนำไปพิสูจน์กันอย่างจริงจังนักว่าเป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากผู้เก็บรักษาส่วนใหญ่มักจะกล่าวว่า ตัวเองไม่ได้ใส่ใจว่านี่คือของจริงหรือเปล่า ความสำคัญของมัมมี่เหล่านี้อยู่ที่ว่ามันเป็นสมบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษของพวกเขามากกว่า หรือไม่ก็ที่ไม่นำมาพิสูจน์นั้นเป็นเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ซึ่งส่วนมากถูกทำขึ้นในสมัยเอโดะนี่เอง(ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง) วิธีทำก็ง่ายๆ เอาซากลิง เต่า นก ปลา มารวมกันแล้วตากแห้งก็เรียบร้อยแล้ว
ใครอยากเห็นซากกัปปะแน่นำไปดูพิพิธภัณฑ์ของแปลกที่ญี่ปุ่นหรือตามวัดที่มีข่าวพบซากกัปปะ(พร้อมซากเงือก) ได้ครับ(แต่จังหวัดไหนไม่รู้นะ)
   
-          ในเมื่อไม่มีใครมาตรวจสอบ เราก็ได้แต่สันนิษฐานไปต่างๆ นาๆ เช่น
-          กัปปะเต่าพันธุ์ใหม่ มีการตั้งสมมติฐานจากกระดองบนหลังว่า กัปปะชนิดนี้อาจจะเป็นเต่าพันธุ์ที่ยังไม่มีการค้นพบก็เป็นได้
-          อาจเป็นแค่ภูต ผี ปีศาจ
-          กัปปะชนิดนี้อาจเป็นสัตว์ในตระกูลลิงที่อยู่ในสายการวิวัฒนาการจากลิงไปเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
-          นากแม่น้ำ (อาจจะเป็นสัตว์พันธุ์ใหม่ ไม่ก็ผู้พบเห็นมองพลาดไป)
-          คนที่พบกัปปะอาจจะเมาหรือตาฝาดเห็นสัตว์จำพวกสุนัขจิ้งจอกหรือพวกกิ้งก่าน้ำ

แต่ที่เหลือเชื่อไปหน่อยก็คือทฤษฏีที่ว่ากัปปะเป็น มนุษย์ต่างดาว!! เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งช่วยสนับสนุนความคิดนี้ก็คือ ซากเอเลี่ยนที่ถูกพบพร้อมกับ UFO ในปี 1947 ซึ่งรูปพรรณสัณฐานเหมือนกับกัปปะของญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริเวณมือและเท้าที่เป็นแผงเหมือนเป็ด และเมื่อนำมาเทียบเคียงกับเอเลี่ยนที่เคยถูกพบเห็นในอเมริกา จะเห็นว่าความสูงและรูปร่างจะคล้ายๆกับกัปปะอยู่มาก
 
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะไม่รู้ว่ากัปปะมีตัวจริงหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้มันก็กลายมาเป็นคาแรคเตอร์อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมักถูกยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางน้ำอีกด้วย

สำหรับเรื่องกัปปะผมก็มีข้อมูลเพียงแค่นี้ครับท่าน


(ก่อนจบ มักมีการแทนรูปของซัวเจ๋งใน"ไซอิ๋ว"เป็นกัปปะก็จริง แต่ในความจริงแล้ว ซัวเจ๋งตามต้นฉบับเป็น"ชายร่างใหญ่ที่อาศัยอยู่ริมน้ำ" ในขณะที่กัปปะมีขนาดตัวไม่ใหญ่มาก อย่างใหญ่ที่สุดก็มีส่วนสูงเพียง 140 เซนติเมตรเท่านั้นเอง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น